×

 

เป็น อยู่ คือ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ

วันที่

จาก ๒๕ ก.ย. ๒๕๕๕ ถึง ๓๐ ก.ย. ๒๕๕๕

สถานที่

ศูนย์การค้าสยามพารากอน

แชร์

เป็น อยู่ คือ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อช่วยเหลือพสกนิกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๙ เพื่อช่วยให้ราษฎรมีรายได้เสริมจากงานศิลปหัตถกรรม อาทิ ทอผ้า ปักผ้า จักสาน เป็นต้น งานดังกล่าวนอกจากจะช่วยให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว ยังถือเป็นการอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ จากพระราชกรณียกิจดังกล่าว ในพุทธศักราช ๒๕๕๕ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงได้รับการน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัคราภิรักษศิลปิน” อันหมายถึง ศิลปินยิ่งใหญ่ ผู้ปกปักรักษางานศิลปะ
เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา “เป็น อยู่ คือ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ” ขึ้น เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบและตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์และส่งเสริมงานหัตถศิลป์อันทรงคุณค่าให้คงอยู่สืบไป

เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ผู้สืบสานธรรมเนียมการแต่งกายที่ดำรงเอกลักษณ์ไทย
ย้อนกลับไปเมื่อปลายพุทธศักราช ๒๕๐๒ ถึงพุทธศักราช ๒๕๐๓ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีหมายกำหนดการที่จะต้องโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และสหรัฐอเมริกา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชประสงค์ที่จะทรงฉลองพระองค์อันแสดงถึงเอกลักษณ์ไทย แต่ในเวลานั้นสตรีไทยไม่มีเครื่องแต่งกายประจำชาติที่เป็นแบบแผน จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยกันค้นคว้าและศึกษาธรรมเนียมการแต่งกายของสตรีไทยในสมัยก่อนเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบฉลองพระองค์ จากนั้นนำมาตัดเย็บตามวิธีการสมัยใหม่ จึงได้เป็นฉลองพระองค์ชุดไทยที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของชาติและเหมาะสมแก่การสวมใส่ในปัจจุบัน
ฉลองพระองค์ชุดไทยที่ทรงระหว่างการเสด็จเยือนต่างประเทศในครั้งนั้นต่อมาเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ชุดไทยพระราชนิยม” และได้กลายมาเป็นต้นแบบชุดประจำชาติของสตรีไทยในปัจจุบัน

อยู่เคียงราษฎร ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๙๘
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต่างๆ ทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยไม่ทรงย่อท้อต่อความเหน็ดเหนื่อยหรือความยากลำบาก เพื่อทอดพระเนตรสภาพความเป็นอยู่ การทำมาหาเลี้ยงชีพ และพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎร ทรงตระหนักดีว่าการพระราชทานสิ่งของช่วยเหลือไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ทรงเล็งเห็นว่างานหัตถกรรมเป็นงานที่ชาวบ้านส่วนใหญ่สามารถทำได้อยู่แล้ว จึงส่งเสริมเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้เสริมจุนเจือครอบครัว เริ่มจากงานทอผ้าพื้นเมืองและทรงรับซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไว้เอง
ต่อมาได้มีการจัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในพุทธศักราช ๒๕๑๙ โดยแบ่งเป็นโครงการต่างๆ มากมาย อาทิ โครงการศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เกิดจากการโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทรงงานในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังฯ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาอุทกภัย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพระราชทานอาชีพทอผ้า และสานกระจูดให้แก่ราษฎร ต่อมามีพระราชดำริว่าผ้ายกเมืองนครนั้นมีชื่อเสียงมาตั้งแต่อดีตแต่ได้สูญหายไปจากพื้นที่นั้นแล้ว จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้นำผ้ายกราชสำนักคืนถิ่นโดยผ่านมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครูผู้เชี่ยวชาญการทอผ้ายกไปสอนราษฎรทั้งวิธีการย้อมและการทอ จนสมาชิกศิลปาชีพบ้านเนินธัมมังและบ้านตรอกแค จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเริ่มต้นจากการทอผ้าฝ้ายสามารถพัฒนาฝีมือมาสู่การทอผ้ายกทองที่มีความสวยงามได้ ปัจจุบันผ้ายกเหล่านี้ถูกนำไปใช้ตัดเย็บเครื่องแต่งกายประกอบการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ

คืออัคราภิรักษศิลปิน ศิลปินยิ่งใหญ่ ผู้ปกปักรักษางานศิลปะ
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงส่งเสริมงานหัตถกรรมเพื่อเป็นอาชีพเสริมแก่ราษฎร ส่งผลให้เกิดการอนุรักษ์งานหัตถกรรมพื้นบ้านที่ใกล้จะสูญหาย นอกเหนือจากงานหัตถศิลป์แล้ว ยังทรงส่งเสริมนาฏศิลป์ อาทิ “โขน” ซึ่งเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยอีกแขนงหนึ่ง
ในการแสดงโขน ต้องใช้ศิลปะหลากหลายแขนงร่วมกัน ทั้งด้านการร่ายรำ การขับร้อง วรรณคดี การบรรเลงปี่พาทย์ และการจัดทำเครื่องแต่งกายตัวละคร เป็นต้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยว่าศิลปะการแสดงโขนจะเสื่อมความนิยมไปจากคนไทย จึงมีพระราชดำริที่จะส่งเสริมนาฏศิลป์นี้ โดยให้ศึกษาค้นคว้ารูปแบบเครื่องแต่งกายโขนในอดีต เพื่อนำมาเป็นข้อมูลสำหรับการปัก การทำหัวโขน ตลอดจนเครื่องประดับให้ถูกต้องตามแบบแผน