สถานที่
แชร์
ห้องกิจกรรม ปี ๒๕๕๖
พันธกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ผ้าคืองานเผยแพร่และส่งเสริมความรู้ในด้านศิลปะ ภูมิปัญญา วัฒนธรรมเครื่องแต่งกายและสิ่งทอ ให้แก่ผู้ที่สนใจในทุกระดับ นับตั้งแต่ระดับเยาวชนจนถึงบุคคลทั่วไป
ห้องกิจกรรม เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ทางพิพิธภัณฑ์ออกแบบขึ้นเพื่อใช้เป็นพื้นที่ประกอบกิจกรรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่เชื่อมโยงและมีความสัมพันธ์กับนิทรรศการหลักของทางพิพิธภัณฑ์ฯ ในพื้นที่ดังกล่าวผู้เข้าชมจะได้เข้าร่วมทำกิจกรรมอันสอดคล้องกับเนื้อหานิทรรศการ ตลอดจนเกร็ดความรู้ต่างๆ ผ่านการทดลอง สัมผัส และการปฏิบัติจริง
การซึมซับข้อมูลผ่านกระบวนการเรียนรู้ในห้องกิจกรรม หรือการได้ลองทำกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้เข้าชมได้รับความบันเทิงและความสนุกสนาน แต่ยังได้รับความรู้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ถือเป็นการส่งเสริมให้ผู้เข้าชมจดจำและเข้าใจเนื้อหาของนิทรรศการหลักได้มากขึ้น
รายละเอียดของห้องกิจกรรม ปี ๒๕๕๖ ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
๑. “มาแต่งตัวแบบไทยให้ตุ๊กตากันเถอะ”
ผู้เข้าชมจะได้สนุกสนานไปกับการแต่งตัวตุ๊กตา ด้วยเครื่องแต่งกายของสตรีไทยในสมัยต่างๆ รวมถึงชุดไทยพระราชนิยม ๘ แบบ และเครื่องแต่งกายชายไทยในโอกาสต่างๆ ทำให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้เรื่องการแต่งกายของสตรีไทยในแต่ละสมัยว่ามีรูปแบบที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรกับการแต่งกายของสตรีไทยในปัจจุบัน
(ชุดตุ๊กตาและเครื่องประดับทำจากแม่เหล็กอ่อน สามารถเคลื่อนย้ายไปตกแต่งบนตัวตุ๊กตาบนกระดานแม่เหล็กได้ตามความชอบของผู้ทำกิจกรรม)
๒. เกม “อะไรอยู่ในกล่อง”
ส่วนนี้เป็นกิจกรรมทดสอบความรู้ทั่วไป ผู้เข้าชมจะได้สัมผัสและดูแบบจำลองวัตถุดิบและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการทอและการปักผ้าในกล่องคำถามทั้ง ๘ กล่อง เพื่อหาคำตอบว่าสิ่งที่อยู่ในกล่องนั้นคืออะไร
(กล่องคำถาม ๖ กล่อง เป็นแบบที่ใช้มือสอดเข้าไปสัมผัสวัตถุในกล่องโดยผู้ชมไม่เห็นวัตถุเพื่อหาคำตอบว่าเป็นอะไร ส่วนอีก ๒ กล่อง ให้ดูแบบจำลองย่อส่วนของวัตถุเพื่อหาคำตอบว่าเป็นอะไร)
๓. กิจกรรม “นุ่งโจงห่มสไบ แต่งกายสีตามวัน”
นอกเหนือจากการแต่งตัวให้ตุ๊กตาแล้ว ผู้เข้าชมเองก็สามารถแต่งกายแบบไทยด้วยสีตามวัน ตามบันทึกความทรงจำในหม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม ดิศกุลให้กับตนเองได้ พร้อมสนุกสนานไปกับอุปกรณ์ประกอบฉาก แล้วถ่ายภาพเป็นที่ระลึกร่วมกับฉากย้อนยุคของห้องกิจกรรมที่ทางพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จัดเตรียมไว้
(การแต่งกายแบบไทยคือ ผู้หญิงห่มสไบและนุ่งโจง ส่วนผู้ชายนุ่งโจง)
๔. “ประทับตรา ลายผ้าไทย”
กิจกรรมส่งท้ายก่อนออกจากห้อง คือตราประทับลายผ้าประเภทต่างๆ อาทิ ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าแพรวา ผ้ายก ผ้าจก ผ้าขิด หรือผ้าชาวเขา ผู้เข้าชมสามารถนำตราประทับที่จัดเตรียมไว้ให้มาออกแบบลวดลายบนกระดาษการ์ดตามชอบ เสร็จแล้วสามารถนำกลับไปเป็นของที่ระลึกจากทางพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ด้วย