วันที่
สถานที่
แชร์
จากเหรียญราชอิสริยาภรณ์สู่เครื่องรางของสามัญชน: การเดินทางของเหรียญประพาสมาลาจากฝรั่งเศสสู่สยามในปี พ.ศ. ๒๔๔๐
พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดกิจกรรมบรรยายทางวิชาการ เรื่อง “จากเหรียญราชอิสริยาภรณ์สู่เครื่องรางของสามัญชน: การเดินทางของเหรียญประพาสมาลาจากฝรั่งเศสสู่สยามในปี พ.ศ. ๒๔๔๐” ได้รับเกียรติจากคุณลุพธ์ อุตมะ นักศึกษาระดับปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี จากวิทยาลัยบูรพคดีและแอฟริกาศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร
เหรียญประพาสมาลาหรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “เหรียญที่ระลึกเสด็จประพาสยุโรป” เป็นเหรียญ อิสริยาภรณ์ประเภทเหรียญที่ระลึกสร้างขึ้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศในแถบยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ (ร.ศ. ๑๑๖) ที่โรงกษาปณ์กรุงปารีส โดยปฏิมากรชาวฝรั่งเศส อองรี ออกุส ปาเต้ (Henri-August Patey) ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในงานประติมากรรมนูนต่ำ (bas relief) เหรียญประพาสมาลาถูกสร้าง เพียง ๕๐๐ เหรียญ
ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ สถานทูตสยาม ณ กรุงลอนดอนได้มอบเหรียญประพาสมาลาเนื้อเงินให้กับ พิพิธภัณฑ์ The South Kensington Museum (ชื่อเก่าของ The Victoria and Albert Museum) เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จประพาสที่พิพิธภัณฑ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเดือนสิงหาคมในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ การนำเสนอครั้งนี้จะตรวจสอบกระบวนการสร้างความเป็นเอกพจน์ (singularisation process) (Kopytoff 1988) และวงจรชีวิตของเหรียญ ภายใต้การตีความทาง ประวัติศาสตร์และการศึกษาวัฒนธรรมวัตถุในแนวทางมนุษยวิทยา (historical studies and material anthropology) การนำเสนอครั้งนี้พิจารณาว่าพิพิธภัณฑ์ The Victoria and Albert Museum ได้มองข้ามนัยยะสำคัญทางการเมืองของเหรียญนี้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่าง สยาม ฝรั่งเศส และรัสเซีย โดยจากการศึกษาและค้นคว้าข้อมูลงานวิจัยที่กรุงเทพ ปารีส และลอนดอน