×

ข่าวสารและกิจกรรม  

“ธรรมเนียมการแต่งกายในพระราชพิธีโสกันต์”

วันที่

๒๑ มิ.ย. ๒๕๕๗

สถานที่

พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

แชร์

“ธรรมเนียมการแต่งกายในพระราชพิธีโสกันต์”

พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการเรื่อง “ธรรมเนียมการแต่งกายในพระราชพิธีโสกันต์” เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) ตลอดจนเครื่องแต่งกายในพระราชพิธีดังกล่าว โดยในงานเสวนาได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล) ประธานพระครูพราหมณ์และหัวหน้าพราหมณ์ สังกัดกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง และอาจารย์บุหลง ศรีกนก นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กรมศิลปากร พร้อมการสาธิตการแต่งกายในพิธีโกนจุกประกอบการบรรยายโดยอาจารย์ วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ประธานกลุ่มจันทร์โสมา จังหวัดสุรินทร์ ในวันเสาร์ที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๗ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง

ประเพณีเกี่ยวกับเด็กเกิดใหม่ของชนชาติไทยนั้นมีมากมายหลากหลายธรรมเนียม เพราะขึ้นอยู่กับภูมิภาคตลอดถึงความเชื่อ, ศาสนา, สภาพสังคม, ในวันและเวลาดังกล่าว สำหรับพระราชโอรสหรือพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ หรือแม้แต่บุตรธิดาของขุนนางผู้ใหญ่ตลอดเรื่อยมาจนถึงบุตรธิดาของคนสามัญธรรมดาทั่วไป ในสมัยโบราณนั้นมักนิยมไว้ผมจุกเป็นส่วนมาก และในหนังสือประเพณีเนื่องในการเกิด ของพระยาอนุมานราชธน ได้ระบุว่า คติเกี่ยวกับการไว้จุกนั้นเริ่มหลังจากที่มีพิธีโกนผมไฟโดยจะเว้นผมไว้ตรงส่วนกระหม่อม  เพราะถือเป็นส่วนที่บอบบางที่สุดบนศีรษะ แต่ก็มีการพัฒนาเกี่ยวกับการไว้ผมในหลายยุคหลายเท่าที่พอจะทราบและเชื่อกันว่าประเทศไทยนั้นน่าจะได้รับคติการไว้ผมจุกนี้มาจากศาสนาพราหมณ์ อันเกี่ยวเนื่องกับคติการบูชาเทพเจ้าเนื่องด้วยเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์นั้นมีผมยาวและขมวดมุ่นเป็นมวยไว้กลางศีรษะ  ก็เลยอาจจะมีการนำคติดังกล่าวมาดัดแปลงเป็นทรงผมเด็ก  ด้วยมีความเชื่อว่าเด็กจะได้รับการคุ้มครองจากพระผู้เป็นเจ้า

สมัยโบราณจะนิยมให้บุตรธิดาไว้ผมจุกจนโตอายุประมาณ ๑๑-๑๓ ปี ก็จะทำพิธีโกนจุก ถ้าเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไปจะเรียกว่า พระราชพิธีโสกันต์ ส่วนพระอนุวงศ์ระดับหม่อมเจ้า เรียกว่า “พิธีเกศากันต์” สำหรับการโกนจุกนั้นเพื่อเป็นการบอกกับทั้งตัวเด็กเองและคนรอบข้างว่า บัดนี้ตนเองหาใช่เด็กเล็กๆ อีกต่อไปแล้วหากแต่กำลังก้าวข้ามสู่ช่วงวัยผู้ใหญ่ โดยพิธีการนี้ ถือเป็นพิธีมงคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ของเด็กไทยในสมัยนั้น เมื่อเด็กมีอายุครบตามกำหนด โหรหลวงจะดูฤกษ์ยาม เพื่อกำหนดวันเวลาที่จะเริ่มพระราชพิธีโสกันต์ ซึ่งจะมีพิธีสงฆ์ และพิธีพราหมณ์พร้อมกัน ส่วนใหญ่มักจะประกอบ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มักจะประกอบพิธีนี้ ร่วมกับพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (พิธีตรุษไทย พระราชพิธีเดือน ๔) ซึ่งต่อมาจะประกอบร่วมกับ พระราชพิธีตรียัมปวาย(โล้ชิงช้า)