×

บล๊อก  

เสื้อเยียรบับ โดย นุชาดา เพียรประสานกิจ เจ้าหน้าที่อนุรักษ์

เสื้อเยียรบับ

เสื้อเยียรบับสีน้ำเงิน เป็นวัตถุที่อยู่ในความครอบครองของพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วัตถุชิ้นนี้ได้รับบริจาคจากอาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ประวัติความเป็นมาของเสื้อเยียรบับนั้นไม่ค่อยแน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจถูกผลิตขึ้นในสยามระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๔๒๒-๒๔๕๐ โดยห้างสรรพสินค้าตะวันตก ‘Harry A. Badman & Co’ ป้ายที่ปกเสื้อด้านในปักเป็นชื่อร้านและตำแหน่งเดิมของร้านคือ ‘ห้างแบดแมน ตะภารช้างโรงศรีสะพานช้างโรงศรี’ ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณใกล้กับสะพานช้างโรงสี ถนนบำรุงเมือง กรุงเทพมหานคร


ภาพที่ ๑: ด้านหน้าของเสื้อเยียรบับสีน้ำเงิน


ภาพที่ ๒: ด้านหลังของเสื้อเยียรบับสีน้ำเงิน

ลักษณะของเสื้อ เป็นเสื้อแขนขาว คอเสื้อตั้ง ผ่าหน้า มีกระดุมผ้าที่ทำจากผ้าชนิดเดียวกันกับตัวเสื้อ(ผ้าเยียรบับ) จำนวน ๗ เม็ด เสื้อมีการตกแต่งด้วยดิ้นโลหะ บริเวณคอเสื้อ สาบเสื้อ ชายเสื้อ และปลายแขนเสื้อ บริเวณส่วนเอวของด้านหลังเสื้อตกแต่งด้วยกระดุมผ้า และโลหะซึ่งคาดว่าเป็นที่รัดสายเข็มขัด ลักษณะของเสื้อประเภทนี้คล้ายคลึงกับเสื้อเครื่องแบบทหาร (Military jacket) ซึ่งนิยมสวมใส่คู่กันกับการนุ่งโจงกระเบน ในยุคสมัยนั้น

เนื่องจากสภาพวัตถุภายในของเสื้อเยียรบับค่อนข้างอยู่ในสภาพที่ชำรุด ส่วนที่เป็นผ้าด้านในขาดหายไปแทบทั้งหมด ดังนั้นการจำลองลักษณะดั้งเดิมภายในของเสื้อเยียรบับอาจสามารถเทียบเคียงได้กับเสื้อเครื่องแบบทหาร(Military jacket) ที่นิยมใช้ในสมัยนั้น เสื้อเยียรบับประกอบไปด้วยชิ้นส่วนหลักสี่ส่วน คือ คอปก แขนเสื้อ ด้านหน้าเสื้อ และด้านหลังเสื้อ โดยแต่ละส่วนถูกเย็บติดกันโดยเครื่องจักร แต่เดิมนั้นด้านในบริเวณคอปกเสื้ออาจมีการใช้ปกเสื้อซึ่งสามารถถอดออกเพื่อเปลี่ยนหรือทำความสะอาดได้ โดยปกเสื้อนิยมทำจากผ้าฝ้ายสีขาว เย็บติดกับตัวปกเสื้อด้านนอกเพื่อเป็นการปกป้องผู้ที่สวมใส่


ภาพที่ ๓: สภาพด้านในของเสื้อเยียรบับสีน้ำเงิน


ภาพที่ ๔: สภาพด้านในของเสื้อเครื่องแบบทหาร ผลิตโดย Ramsay & Co ปี พ.ศ. ๒๔๒๗


ภาพที่ ๕: ภาพวาดแสดงส่วนด้านหน้าและด้านหลังของเสื้อเยียรบับ


ภาพที่ ๖: ภาพวาดแสดงส่วนประกอบของเสื้อเยียรบับ

ด้านในของเสื้อเยียรบับมีการซับด้วยผ้าหลายประเภท โดยบริเวณคอเสื้อบุด้วยผ้าที่ทำจากเส้นใยพืช (Bast fiber) ด้านหน้าและด้านหลังของเสื้อทำจากผ้าฝ้าย


ภาพที่ ๗: ภาพวาดแสดงผ้าที่ใช้ซับเสื้อด้านใน

นอกจากนี้ภายในของเสื้อยังมีการบุผ้านวม(Quilt) โดยวัสดุที่ทำผ้านวมคือเส้นใยฝ้ายและเย็บปิดด้วยผ้าไหมสีเหลือง โดยแต่เดิมนั้นเสื้อเยียรบับอาจมีการซับด้านในด้วยผ้าไหมสีเหลืองทั้งตัว วัตถุประสงค์ของการใช้ผ้านวมบุบริเวณด้านในของเสื้ออาจมีเพื่อสร้างความอบอุ่นแก่ผู้ที่สวมใส่ บริเวณส่วนเอวมีการซับด้วยแถบผ้าไหมน้ำเงิน ซึ่งคาดว่าอาจเคยเป็นจุดที่มีเข็มขัดด้านใน


ภาพที่ ๘: ภาพวาดแสดงส่วนที่มีการบุด้วยผ้านวม


ภาพที่ ๙: ภาพวาดแสดงสภาพเดิมด้านในของเสื้อเยียรบับ

*ห้าง Harry A. Badman & Co. เป็นห้างนำเข้าสินค้าจากยุโรปและอเมริกา เช่น ยา แอลกอฮอล์ เครื่องแบบทหาร เป็นต้น ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2422 โดยนาย Harry Badman ร้านเดิมตั้งอยู่ใกล้สะพานช้างโรงสี ต่อมาจึงย้ายร้านไปเปิดใหม่บริเวณใกล้สะพานผ่านพิภพลีลา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2450 (ศิลปวัฒนธรรม, “กำเนิดแบดแมน อดีตห้างดัง ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ฮิตในหมู่ขุนนาง ชนชั้นสูง,” เข้าถึงเมื่อ 13 มิถุนายน, 2566, https://www.silpa-mag.com/culture/article_11767)