แชร์
เบื้องหลังการทำนิทานโขน ชุดศึกมัยราพณ์
นิทานโขน ชุดศึกมัยราพณ์เล่มนี้ เป็นหนังสือนิทานเสริมการเรียนรู้ด้านวรรณคดีไทยสำหรับเด็ก โดยผู้เขียนเห็นว่าวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์นั้นเป็นวรรณกรรมชั้นสูงที่มีเรื่องราวที่แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ และความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ และเพื่อให้สอดคล้องกับนิทรรศการเครื่องโขน ซึ่งเป็นนิทรรศการที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ตั้งแต่ปี 2559-2560 กว่าจะมาเป็นหนังสือนิทานเล่มนี้ ใช้เวลาทั้งหมดกว่า 6 เดือน ผ่านกระบวนการทำงานหลายขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 เลือกตอน: รามเกียรติ์มีเค้าโครงมาจากรามายณะของอินเดียซึ่งเป็นนิทานที่แพร่หลายในแถบเอเชียใต้และเข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ เนื้อหาของรามเกียรติ์มีความยาวและใช้ภาษาที่ละเมียดละไม แต่กลุ่มเป้าหมายของการทำหนังสือครั้งนี้คือเด็ก เราจำเป็นต้องเลือกตอนใดตอนหนึ่งของรามเกียรติ์มานำเสนอเพื่อให้นิทานไม่ยาวจนเกินไป เหตุผลที่เลือกชุดศึกมัยราพณ์ เพราะว่า ตอนนี้มีหนุมาน (ลิง) เป็นตัวละครเอกของเรื่อง หนุมานเป็นตัวแทนของผู้ที่มีความเสียสละ ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์คือ พระราม และยังต้องฝ่าฝันอุปสรรคต่างๆ ด้วยสติปัญญาและความวิริยะอุตสาหะ เพื่อปราบมัยราพณ์ซึ่งเป็นผู้ปองร้ายต่อพระราม ตอนนี้จึงเป็นตอนที่สนุกสนาน เต็มไปด้วยจินตนาการ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีความเหมาะสมกับเด็กเพราะเด็กจะได้ผจญภัยไปกับหนุมานเพื่อพิชิตภารกิจให้สำเร็จ
ขั้นตอนที่ 2 การค้นคว้าเพื่อพัฒนาบท: การนำบทร้องในการแสดงโขนพระราชทานชุดศึกมัยราพณ์ ปี 2554 มาถอดความเป็นร้อยแก้วและปรับคำพูดให้เป็นภาษาที่เหมาะสมกับเด็ก และนำบทที่พัฒนาเป็นร้อยแก้วแล้วมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ เนื้อหาภาษาไทยและภาษาอังกฤษทั้งหมดผ่านการพิจารณาความถูกต้องและเหมาะสมจาก คณะกรรมการโขนพระราชทานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิจารณา
ขั้นตอนที่ 3 การออกแบบ: เมื่อได้เนื้อหาแล้วจึงพิจารณาเลือกสำนักพิมพ์สำหรับออกแบบและผลิตหนังสือนิทาน ในขั้นตอนนี้ะต้องค้นคว้ารวบรวมข้อมูลภาพวาด ภาพถ่ายต้นแบบเพื่อนำไปตรวจสอบความถูกต้องของภาพประกอบและองค์ประกอบทุกอย่างที่จะปรากฏในหนังสือ จากนั้นสำนักพิมพ์จะนำภาพต้นแบบเหล่านั้นมาพัฒนาเป็นภาพวาดสีน้ำที่มีสีสันสดใส เหมาะแก่เด็กแต่ยังคงไว้ซึ่งความถูกต้องตามตำราและภาพวาดนั้นจะต้องไม่เคยปรากฏที่ใดมาก่อนเพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธ์
ขั้นตอนที่ 4 การตรวจสอบความถูกต้อง: เมื่อหนังสือนิทานถูกพัฒนามาถึงขั้นตอนก่อนผลิตจริง จะต้องมีการตรวจสอบคำผิด การเว้นวรรคตอน และสีที่พิมพ์ออกมา โดยบรรณาธิการของพิพิธภัณฑ์และสำนักพิมพ์เพื่อจะได้แก้ไขและงานจะได้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด
ขั้นตอนที่ 5 ผลิตและจัดส่งตามเป้าหมาย: หนังสือจัดจำหน่ายที่ร้านค้าพิพิธภัณฑ์ ส่วนหนึ่งจะมอบให้ห้องสมุดของโรงเรียนต่างๆ ที่ทำหนังสือติดต่อขอรับบริจาคมาโดยไม่มีค่าใช่จ่าย