×

บล๊อก  

เกีย เซิน ป๊อง: หนังสือเดินทางของชาวเมี่ยน (เย้า) โดย นายวิทวัส เกตุใหม่, ภัณฑารักษ์

เกีย เซิน ป๊อง: หนังสือเดินทางของชาวเมี่ยน (เย้า)

ชาวเมี่ยน หรือเย้ามีความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ประเพณี และวัฒนธรรมชนเผ่าที่มีการสืบทอดมายาวนาน ชนเผ่าเมี่ยนได้มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นหนังสือเดินทางข้ามเขตภูเขา (Passport) ของชนเผ่าเมี่ยน ที่เรียกว่า “เกีย เซ็น ป๊อง” เป็นหนังสือที่กล่าวถึงตำนานต้นกำเนิดชาติพันธุ์และชนเผ่าของตนที่น่าสนใจปรากฎในหนังสือโบราณ “เกีย เซ็น ป๊อง” ในนิทานกำเนิดของชาวเมี่ยนที่เล่าขานต่อๆ กันมาว่า ในสมัยพระเจ้าผิงหวาง แห่งราชวงศ์โจวตะวันออก มีเทพจากสรวงสวรรค์ชื่อว่า ตาอง (โล่งชั้ว) และตากู๋ (กู๋ฟาม) มีความคิดที่จะสร้างเผ่าเมียนขึ้นมา ดังนั้นจึงลงมาเกิดในโลกมนุษย์โดย ตากู๋ ลงมาเกิดเป็นธิดาองค์ที่สาม ของพระเจ้าผิงหวาง ซึ่งมีสิริโฉมงดงาม ส่วน ตาอง ลงมาเกิดในร่างของ. สุนัขมังกร ตัวยาวถึงสามฟุต ชื่อ ผันหู

ขณะนั้นแคว้นผิงหวางต้องการปราบปรามพระเจ้าเกาอ๋องผู้ปกครองแคว้นใหญ่อีกแคว้นหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่อีกฟากฝั่งของทะเลที่กว้างใหญ่ พระเจ้าผิงหวางจึงได้ประกาศว่าถ้าใครที่สามารถตัดหัวพระเจ้าเกาอ่องแล้วนำมาให้ตนได้ จะยกพระธิดาองค์ที่สามให้ผุ้นั้นเป็นรางวัล โดยจะให้เป็นพระราชบุตรเขย จะยกแผ่นดิน และข้าทาสบริวารให้ปกครองครึ่งนึง ต่อมาได้มีผู้นำสุนัขมังกร “ผันหู” ไปถวายให้กับพระเจ้าผิงหวาง ซึ่งก็ทรงรับเลี้ยงไว้ เนื่องจากเป็นสุนัขมังกรที่มีลักษณะสง่างาม ที่สำคัญคือฉลาด และรู้ภาษาด้วย
สุนัขมังกร “ผันหู” อาสาที่จะไปเอาชีวิตพระเจ้าเกาอ๋อง เมื่อนั้นพระเจ้าเกาอ๋องเห็นเข้าก็นึกว่าเป็นลางดีที่มีสุนัขมังกรมาอยู่ด้วย และรักราวกับสมบัติอันมีค่า จึงโปรดให้อยู่ใกล้ชิดกับพระองค์ เมื่อสบโอกาส ผันหู จึงกระโดดกัดคอพระเจ้าเกาอ๋องจนขาด และคาบศีรษะข้ามทะเลกลับไปถวายพระเจ้าผิงหวาง พระเจ้าผิงหวางจึงจำพระทัยพระราชทานพระธิดาองค์ที่สามให้แต่งงานกับ ผันหู ตามที่ทรงสัญญาเอาไว้ แต่เนื่องจากเป็นการแต่งงานระหว่างสุนัขกับมนุษย์ จึงทรงให้นำเอาเสื้อลายห้าสีมาคลุมตัวของ ผันหู พร้อมผ้าลายรัดเอว ผ้าเช็ดหน้าลายดอกไม้ผูกที่หน้าผาก สวมกางเกงปิดก้นและผ้าลายสองผืนปิดขา ซึ่งผ้าต่างๆเหล่านี้ได้กลายมาเป็นแบบอย่างเครื่องแต่งกายของชาวเมี่ยนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ภาพพระเจ้าผิงหวาง พระธิดาองค์ที่สาม และเทพสุนัขมังกร “ผันหู” ที่ปรากฏใน “เกีย เซิน ป๊อง”

ตัวอักษรจีนที่เล่าเรื่องราวความเป็นมาของชนเผ่าเมี่ยนใน “เกีย เซิน ป๊อง”

กระบอกไม้ไผ่ที่ใช้บรรจุ “เกีย เซิน ป๊อง” ด้านอกวาดเป็นรูปเรื่องราวของเทพสุนัขมังกร

เกีย เซิน ป๊อง ที่ทำมาจากผ้าสันนิษฐานว่ามาจากประเทศลาว