แชร์
รูปแบบการจัดแสดงวัตถุที่พิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม – ป้าไท้ จ.สกลนคร พ.ศ.2563
พิพิธภัณฑ์ป้าทุ้ม-ป้าไท้ จ.สกลนคร แบ่งส่วนการจัดแสดงเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ ห้องนอน ห้องครัวและ ชานบ้าน โดยมีการจัดแสดงที่แตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสมของพื้นที่ในแต่ละส่วน รวมถึงเรื่องแสงในการจัดแสดงก็มีผลกระทบต่อวัตถุไม่มากก็น้อย เนื่องจากพิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม-ป้าไท้ เป็นพิพิธภัณฑ์เปิดที่ไม่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมให้คงที่ได้ จึงได้เลือกใช้รูปแบบและวิธีการจัดแสดงที่จะช่วยชะลอให้วัตถุเสื่อมสภาพช้าที่สุด ซึ่งรายละเอียดของการจัดแสดงมีดังนี้
การจัดแสดงภายในห้องนอน แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1.เตียงนอน
ประกอบด้วยเตียง 1 หลังและชุดเครื่องนอน ซึ่งใช้ผ้าคลุมเตียงคลุมเตียงไว้เพื่อป้องกันฝุ่น ด้านบนของผ้าคลุมวางถุงพระราชทาน เตียงนอนจัดแสดงไว้ด้านขวาของบ้านติดกับหน้าต่างและประตู (หันหน้าเข้าตัวห้อง) ทำให้เตียงนอนโดนแสงแดดกระทบแทบจะตลอดเวลา การใช้ผ้าคลุมนอกจากจะช่วยป้องกันฝุ่น สิ่งสกปรก แมลง ยังช่วยป้องกันแสงแดดที่อาจก่อให้เกิดความซีดจางของสีชุดเครื่องนอนอีกด้วย เหนือหัวเตียงด้านบนเป็นหิ้งพระไม้วางพระพุทธรูปสีขาว 1 องค์ บริเวณหิ้งพระเป็นจุดที่แสงจากธรรมชาติส่องเข้าไม่ถึง ทำให้ไม่ต้องกังวลในเรื่องของการซีดของไม้ แต่ต้องระวังในเรื่องของแมลงที่อาจมากัดกินหรือทำรัง
2. ตู้จัดแสดงฉลองพระองค์
ตู้จัดแสดงตั้งอยู่ในส่วนของกลางห้องนอน ภายในจัดแสดงหุ่นฉลองพระองค์ (จำลอง) จานดอกไม้ (ดอกสะเลเต) และป้ายคำบรรยาย ลักษณะเป็นตู้ยกลอยจากพื้น มีกระจกทั้ง 3 ด้าน ด้านหลังตู้เป็นผนังสีขาว โดยตัวตู้จะอยู่ติดกับฉากสูงที่ตกแต่งด้วยแผ่นไม้กระดานเพื่อให้กลมกลืนกับฝาผนังของตัวบ้าน ซึ่งบานเปิด-ปิดตู้จะอยู่ที่ด้านหลังผนังนี้
ก่อนการติดตั้งวัตถุภายในตู้ จะต้องมีการตรวจสอบกลิ่นไอระเหยและความชื้นสัมพัทธ์ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้วัตถุประเภทผ้าเสื่อมสภาพชำรุดเสียหาย การตรวจสอบความชื้นสัมพัทธ์จะใช้เครื่องอ่านค่าอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ (Thermo-hygrometer) ใส่เข้าไปในตู้เพื่อตรวจสอบค่า เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ายังมีกลิ่นไอระเหยจากการผลิตตู้และมีความชื้นสัมพัทธ์สูง จึงเติมวัสดุอุปกรณ์ใส่เข้าไปภายในตู้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้แก่ กระปุกเจลดูดซับกลิ่นและกล่องบรรจุสารดูดความชื้น (Silica Gel) นอกจากนี้ยังต้องทำความสะอาดภายในตู้ก่อนติดตั้งวัตถุให้เรียบร้อยด้วย
สำหรับการจัดแสงนิทรรศการ ได้จัดโคมไฟเข้าจากด้านบนทั้งด้านซ้ายและขวา ด้านบนมีตะเกียงเจ้าพายุและหลอดไฟนีออนทางด้านซ้าย ซึ่งการจัดไฟไม่สามารถควบคุมค่าความเข้มแสงได้ เนื่องจากมีแสงธรรมชาติส่องเข้ามาตามช่องประตู หน้าต่างของบ้าน จึงแก้ปัญหาด้วยการจัดแสงให้ส่องกระทบวัตถุเท่าๆกันทุกด้าน เพื่อป้องกันการซีดจางของวัตถุเพียงด้านใดด้านหนึ่ง
3. ตู้จัดแสดงผ้าไหมและไจไหม
ผ้าทอลายจัดแสดงในตู้จัดแสดง ไจไหมจัดแสดงทั้งในตู้จัดแสดงและราวแขวน มีป้ายไวนิลจำนวน 3 ป้ายอยู่ด้านหลังราวแขวน 2 ป้าย ด้านข้างหน้าต่าง 1 ป้าย ตู้จัดแสดงติดกับหน้าต่างและประตูด้านซ้าย (หันหน้าเข้าตัวห้อง) แสงสว่างจึงได้จากแสงธรรมชาติและหลอดไฟจากตัวบ้าน เมื่อไม่มีผู้เข้าชมจะทำการคลุมผ้าตู้จัดแสดงไว้เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกและแสงแดดที่อาจจะทำให้ผ้าทอเกิดการซีดของสี
การจัดแสดงบริเวณห้องครัว แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1.พื้นที่ด้านหน้าห้องครัว
พื้นที่ด้านหน้าห้องครัวจัดแสดงวัตถุหลากหลายประเภท อาทิเช่น ฟืม ข้อง น้ำเต้า สุ่มดักปลา ชิ้นส่วนของหลาและกระจาดเลี้ยงไหม จัดวางในรูปแบบจำลองวิถีชีวิตเพื่อให้ความรู้และความสวยงาม โดยไม่ได้คำนึงถึงอายุการใช้งานและความเสื่อมสภาพของวัตถุ ซึ่งวิธีการจัดแสดงลักษณะนี้จะดูแลรักษาสภาพวัตถุได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากวัตถุตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งและทำจากไม้โดยส่วนใหญ่ ทำให้อาจมีแมลงหรือสัตว์ขนาดเล็กมากัดกินหรือทำรังได้ รวมถึงปัญหาจากแสงแดดที่ส่องกระทบก็อาจทำให้ไม้ซีดหรือเปราะกรอบได้
2. พื้นที่ภายในห้องครัว
พื้นที่ภายในห้องครัวจัดแสดงวัตถุที่ใช้ในการประกอบอาหารและวัตถุที่เป็นของดั้งเดิมของบ้านป้าทุ้ม-ป้าไท้ หรือของที่ชาวบ้านนำมาจัดวางไว้อาทิเช่น ตู้กับข้าว ชั้นวางจาน เตาไฟ หม้อ หวด ไห ต่างๆเป็นต้น วัตถุจัดแสดงเป็นไม้โดยส่วนใหญ่ทำให้เกิดการผุพังเนื่องจากแมลงและความชื้นภายในอากาศ ทำให้วัตถุบางชิ้นมีการซ่อมแซมขึ้นใหม่เนื่องจากไม่ปลอดภัยต่อผู้เข้าชมและไม่สวยงาม ถึงแม้ว่าพื้นที่ภายในห้องครัวจะไม่ได้รับแสงแดดจากธรรมชาติโดยตรงปริมาณมาก แต่ก็ยังมีปัญหาในเรื่องของการผุกร่อนของไม้ไม่ว่าจะเป็นบริเวณฝาบ้านหรือพื้นบ้าน รวมถึงวัตถุบางส่วนที่ทำจากไม้ด้วย ทำให้ต้องตรวจสอบสภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อระมัดระวังความเสียหายต่อพื้นที่จัดแสดง วัตถุ และผู้เข้าชม
การจัดแสดงบริเวณชานบ้าน
บริเวณชานบ้านมีการจัดแสดง กี่ทอผ้า กง หลา หางเห็น อัก ตั่งและ กระจาดใส่ไจไหม จัดแสดงไว้เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถร่วมกิจกรรมได้ วัตถุจัดแสดงเป็นไม้ทั้งหมดและเป็นส่วนจัดแสดงในพื้นที่โล่งแสงที่ใช้ในการจัดแสดงจึงเป็นแสงจากธรรมชาติ ชานบ้านอยู่ติดกับบันไดทางขึ้นด้านหน้าของตัวบ้าน จัดแสดงโอ่งดินเผาจำนวน 2 ใบ ใบหนึ่งตั้งบนพื้น อีกใบตั้งบนหัวเสาซึ่งเป็นจุดที่โดนแสงจากดวงอาทิตย์มากที่สุด
เมื่อเดินเข้ามาด้านในชานบ้านฝั่งขวาจัดแสดงเกี่ยวกับการทอผ้าและปั่นด้าย ได้แก่ กี่ทอผ้า กง หลา หางเห็น อักและกระจาดใส่ไจไหม ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ทำขึ้นจากไม้ กี่ทอผ้าวางอยู่ติดริมขวาของชานบ้านทำให้โดนแสงแดดส่องถึงมากที่สุด ถึงแม้ว่าจะมีที่ป้องกันฝนและแดด แต่ผ้าใบที่นำมาใช้ในการป้องกันนั้นเป็นพลาสติกหนาใสซึ่งป้องกันแดดได้ไม่ดีเท่าที่ควร
ส่วนกลางของชานบ้านวางตั่งสำหรับทำกิจกรรมหรือชมวีดิทัศน์เรื่องความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ ด้านหน้าของตั่งเป็นจุดชมวีดิทัศน์ ด้านบนของจอวีดิทัศน์มีกรอบพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว, และพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตามลำดับ มีป้ายไวนิลอยู่ทางด้านขวาของจอและทางด้านซ้ายติดกรอบภาพคุณยายไท้กับคุณพ่อคาย แสงวงศ์ ริมสุดทางฝั่งขวาจัดวางไต้ไฟคุยบ่าวจำนวน 1 ชิ้น ริมสุดทางด้านซ้ายจัดวางชั้นวางรองเท้าจำนวน 2 ชิ้น