แชร์
ย่าม: เครื่องพกพาคู่ใจชาวไทยภูเขา และชาวไทยล้านนา
ย่ามทำด้วยผ้ามีหู หรือสายในตัวสำหรับสะพาย เป็นเครื่องใช้ที่สะดวกมีประโยชน์มาก สามารถใส่สิ่งของสารพัดลงไปได้ ไม่ว่าจะไปทำไร่ ทำนา ทำสวน ไปร่วมกิจกรรม หรือไปที่ไหน สามารถนำติดตัวตลอด เป็นของใช้ที่อยู่คู่กับผู้คนโดยทั่วไป อาจจะแตกต่างทางด้านสี วิธีการเย็บ ตามท้องถิ่น หรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ
ย่าม หรือในภาษาล้านนาเรียกว่า ถง คือถุงผ้าที่ใช้ประโยชน์นานัปการ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนชาวไทยภูเขา และชาวไทยล้านนามาช้านาน เพราะแต่เดิมชาวไทยภูเขา และชาวไทยล้านนา ต่างมีวิถีชีวิตอยู่กับป่า กับธรรมชาติ การทำไร่ ทำสวน แทบทุกครัวเรือนจะทอผ้าไว้ใช้เอง แล้วนำมาเย็บเป็นเสื้อผ้าและเครื่องใช้ เป็นถุงสำหรับใส่สิ่งของ ผ้าที่ใช้ทำย่ามโดยส่วนมากจะ เป็นผ้าทอมือ ทอด้วยฟืมหน้าแคบ นิยมทำเป็นลายแซง คือเป็นด้ายพุ่ง เป็นเส้นที่ย้อมด้วยครามสลับกับเส้นด้ายสีธรรมชาติ เมื่อทอแล้วจะได้ลายริ้วเป็นทาง ในอดีตจะใช้ผ้านี้เป็น “ตัวถง” หรือตัวย่าม และเย็บ “ขาถง” หรือขาของย่ามส่วนที่จะใช้สะพาย ติดกับส่วนที่เป็นตัวย่าม
ย่ามหรือถง ของชาวไทภูเขาและชาวไทยล้านนา มีหลายชนิด หลายขนาด และมีชื่อเรียกหลายชื่อดังนี้ ถงเป๋อ ถงปา, ถงห่อเข้าด่วน, ถงยาง, ถงลัวะ เป็นต้น
ปัจจุบัน ย่าม หรือถง ถูกตัดเย็บและมีแบบให้เลือกมากมาย เป็นแฟชั่นในท้องตลาด มีกลุ่มที่นิยมใช้ และหลายๆ คนสะสม มีการสอนเย็บด้วยมือแบบง่ายๆ บางคนเลือกที่จะใช้ย่ามเป็นของที่ระลึก และของฝากที่งดงาม ไม่เหมือนใคร อีกทั้งย่ามยังถือว่าเป็นภูมิปัญญาของของชนชาติ ควรส่งเสริมและอนุรักษ์ให้ใช้เป็นของใช้คู่กาย สำหรับใส่ของเครื่องใช้ส่วนตัว แทบทุกคน ทุกวัย เป็นการลดการใช้ถุงพลาสติกสามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อนได้ทางหนึ่ง