×

บล๊อก  

การให้เลขทะเบียนวัตถุจัดแสดงในนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม-ป้าไท้ จ. สกลนคร โดย นางสาวเยาวลักษณ์ บุนนาค, หัวหน้าแผนกอนุรักษ์และทะเบียน

การให้เลขทะเบียนวัตถุจัดแสดงในนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม-ป้าไท้ จ. สกลนคร

วัตถุพิพิธภัณฑ์แต่ละชิ้นจะมีเลขทะเบียนประจำวัตถุ เพื่อใช้ระบุลักษณะหรือจำแนกวัตถุชิ้นนั้น ๆ ออกจากวัตถุชิ้นอื่นในกลุ่มวัตถุเดียวกัน โดยปกติแล้วในเลขทะเบียนจะระบุข้อมูลเบื้องต้นของวัตถุนั้นอยู่ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ปีที่รับวัตถุเข้าพิพิธภัณฑ์, ชื่อสถานที่, ลำดับครั้งที่รับวัตถุ, ลำดับจำนวนวัตถุ เป็นต้น ซึ่งแต่ละพิพิธภัณฑ์สามารถกำหนดรูปแบบของเลขทะเบียนได้ตามความสะดวกของข้อมูล, วัตถุ, รวมถึงระบบการเรียกใช้งานต่าง ๆ

รูปแบบการให้เลขทะเบียนวัตถุ

พิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม – ป้าไท้ เลือกใช้รูปแบบการให้เลขทะเบียนวัตถุแบบระบุข้อมูลชื่อพิพิธภัณฑ์, ปีที่ทำทะเบียนวัตถุ, สถานที่จัดแสดง, และลำดับจำนวนวัตถุ ยกตัวอย่างดังนี้

TTM หมายถึง ชื่อพิพิธภัณฑ์ในภาษาอังกฤษ (Tum-Tai Museum)
2020 หมายถึง ปีคริสต์ศักราชที่ทำทะเบียนวัตถุ
1 หมายถึง เลขประจำส่วนจัดแสดง
2 หมายถึง ลำดับวัตถุในกลุ่มวัตถุเดียวกัน ในที่นี้คือวัตถุชิ้นที่ 2
A หมายถึง ลำดับจำนวนวัตถุ ใช้ในกรณีที่วัตถุนั้นมีส่วนประกอบหลายชิ้น เช่น ภาชนะที่มีฝาปิด ระบุให้ A เป็นฝาและ B เป็นตัวภาชนะ เป็นต้น

แนวทางการให้เลขทะเบียนวัตถุ

• นิทรรศการจัดแสดงในรูปแบบพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Living Museum) โดยมีผู้ดูแลเป็นอาสาสมัครในชุมชน วัตถุที่จัดแสดงในนิทรรศการ นอกจากจะมีเครื่องใช้ส่วนตัวของคุณยายไท้ แสงวงศ์ เจ้าของบ้านแล้ว ส่วนใหญ่เป็นสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันและวิถีชีวิตของชุมชนที่มาจากการจัดหากันเองและการบริจาค ซึ่งบางชิ้นผู้ดูแลจะเคลื่อนย้ายวัตถุไปจัดวางตามจุดต่าง ๆ ตามความพึงพอใจและความเหมาะสม ทำให้ยากต่อการระบุเลขทะเบียนวัตถุที่มีข้อมูลสถานที่จัดแสดง เนื่องจากวัตถุมีการเคลื่อนย้ายตลอดเวลา ดังนั้นการให้เลขวัตถุจึงกำหนดให้เลขเฉพาะวัตถุที่คาดว่าจะจัดวางแบบถาวร มีขนาดใหญ่ และเป็นวัตถุชิ้นสำคัญเท่านั้น

• พื้นที่ส่วนจัดแสดงนิทรรศการ มีเลขประจำแต่ละส่วน ดังนี้
หมายเลข 1 หมายถึง ส่วนจัดแสดงภายในห้องนอน
หมายเลข 2 หมายถึง ส่วนจัดแสดงบริเวณชานบ้านด้านหน้า
หมายเลข 3 หมายถึง ส่วนจัดแสดงภายในห้องครัวและบริเวณด้านหน้าห้องครัว
หมายเลข 4 หมายถึง ส่วนจัดแสดงบริเวณใต้ถุนบ้าน
หมายเลข 5 หมายถึง อุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์

วิธีการติดป้ายระบุเลขทะเบียนวัตถุ

วัตถุแต่ละประเภทจะมีวิธีการติดเลขทะเบียนวัตถุที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม โดยจะพิจารณาจากประเภทวัสดุ ได้แก่ ผ้า, กระดาษ, ไม้, โลหะ, ฯลฯ รวมถึงสภาพพื้นผิวและความแข็งแรงของวัตถุ ในส่วนของพิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม – ป้าไท้นั้น วัตถุส่วนใหญ่เป็นวัสดุประเภทผ้า และวัตถุที่มีพื้นผิวเรียบแข็ง เช่น ไม้, โลหะ ดังนั้น การติดเลขทะเบียนวัตถุจึงใช้ 2 วิธี มีรายละเอียดดังนี้

1. การเย็บแถบผ้าติดกับวัตถุ (ผ้าและเครื่องจักสาน)

วัสดุอุปกรณ์
• เทปก้างปลาผ้าฝ้ายสีธรรมชาติ
• ปากกาหมึกสีดำไร้กรด
• อุปกรณ์ตัดเย็บ: เข็ม, ด้าย, กรรไกร

ขั้นตอนการทำ
• ใช้ปากกาเขียนเลขทะเบียนวัตถุลงบนแถบเทปก้างปลา รอจนหมึกแห้ง
• เย็บแถบป้ายลงบนวัตถุ พับทบปลายแถบซ่อนไปด้านหลัง ใช้วิธีการเย็บที่มุม 4 จุดเพื่อให้เกิดรูบนวัตถุน้อยที่สุด ผูกปมให้แข็งแรง


การเย็บแถบป้ายทะเบียนวัตถุบนหมอนขิด

2. การเขียนตัวเลขลงบนพื้นผิววัตถุ (วัตถุที่มีผิวเรียบแข็ง เช่น ไม้ โลหะ)

วัสดุอุปกรณ์
• กาวพาราลอยด์ บี72 ในสารละลายอะซิโตน 20% (20% Paraloid B-72 in Acetone)
• พู่กัน
• ปากกาหมึกสีดำและสีขาว

ขั้นตอนการทำ
• ทำความสะอาดพื้นผิววัตถุให้สะอาดด้วยการปัดฝุ่นละอองหรือเช็ดแบบแห้ง
• ใช้พู่กันจุ่มกาวทาบนพื้นผิววัตถุในลักษณะเป็นแถบยาว รอจนแห้ง (ประมาณ 30 นาที)
• ใช้ปากกาเขียนเลขทะเบียนวัตถุลงบนแถบที่ทากาว ทิ้งไว้ให้แห้ง (เลือกใช้สีปากกาตามความเหมาะสม)


การเขียนเลขทะเบียนลงบนตั่งไม้

จากรายละเอียดที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงวิธีการให้เลขวัตถุและการติดป้ายทะเบียนวัตถุตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ผู้ที่สนใจสามารถเลือกใช้วิธีการและรูปแบบต่าง ๆ ได้ตามความเหมาะสมและความสะดวกของตนเอง แต่ควรอยู่บนพื้นฐานด้านการอนุรักษ์และการดูแลรักษาวัตถุ เพื่อป้องกันวัตถุชำรุดเสียหายและช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของวัตถุให้คงอยู่ในสภาพเดิมได้มากที่สุด

เอกสารแนะนำ
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องวิธีการติดป้ายทะเบียนวัตถุพิพิธภัณฑ์ จากบทความเรื่อง A Simple Guide to Labelling Museum Objects จัดทำโดย Powerhouse Museum เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย