×

บล๊อก  

การแบ่งประเภทวัตถุในห้องคลังของพิพิธภัณฑ์ ฝ่ายอนุรักษ์และทะเบียน

การแบ่งประเภทวัตถุในห้องคลังของพิพิธภัณฑ์

พันธกิจของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ คือการเก็บรวบรวม จัดแสดง และอนุรักษ์ผ้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออก โดยให้ความสำคัญกับผ้าในราชสำนักเป็นพิเศษ และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะเรียนรู้เรื่องผ้าทั้งในอดีตและปัจจุบัน ถึงแม้ว่าวัตถุส่วนใหญ่จะเป็นประเภทผ้า แต่ก็มีวัตถุประเภทอื่นๆ ที่ได้เก็บรักษาไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ด้วยเช่นกัน

วัตถุของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ โดยใช้เกณฑ์แบ่งตามกลุ่มผู้ใช้และวัสดุเป็นหลักดังนี้

๑. ฉลองพระองค์และเครื่องประกอบการแต่งกายของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙

วัตถุประเภทนี้ได้รับมาจากการทำหนังสือขอพระราชานุญาตไปยังกองราชเลขาธิการในพระองค์ โดยเบื้องต้นภัณฑารักษ์จะเป็นผู้กำหนดงานนิทรรศการ คัดเลือกฉลองพระองค์และเครื่องใช้ต่างๆ ที่สอดคล้องกับเนื้อหาในนิทรรศการ เช่น ฉลองพระองค์ พระมาลา ถุงพระหัตถ์ ฉลองพระบาท กระเป๋าทรง หีบเดินทางส่วนพระองค์ โต๊ะทรงงานและพระเขนย เป็นต้น แล้วจึงขอพระราชทานเพื่อนำมาจัดแสดงและจัดเก็บภายในห้องคลังของพิพิธภัณฑ์

ฉลองพระองค์และเครื่องประกอบการแต่งกายของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙

๒. ผ้าในราชสำนัก

ในที่นี้หมายถึงประเภทผ้าที่ใช้ในราชสำนักไทยในอดีต ได้แก่ ผ้านุ่ง เช่น ผ้ายก ผ้าลายอย่าง ผ้าสมปักปูม ทรงสะพัก สไบ เป็นต้น วัตถุกลุ่มนี้ได้รับอภินันทนาการมาจากผู้บริจาคท่านอื่นๆ ในพิพิธภัณฑ์มีจำนวนไม่มากนัก

ผ้าไหมยกทอง ลายเกล็ดพิมเสน

๓. ผ้าชาติพันธุ์

วัตถุในกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดในพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วยเครื่องแต่งกายและเครื่องใช้ ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ชาวไทยวน กลุ่มไทแดง กลุ่มไทดำ กลุ่มไทลื้อ กลุ่มพวน กลุ่มไทครั่ง กลุ่มผู้ไท และกลุ่มชาวเขา เป็นต้น

กลุ่มผ้าชาติพันธุ์

๔. ผ้าอื่นๆ

นอกจากประเภทผ้าที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีผ้าชนิดอื่นๆ เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้ายกที่ทอขึ้นใหม่ ผ้าแพรวา ผ้าขิด และผ้าปัก ที่ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มเบื้องต้นด้วย ผ้ากลุ่มนี้มักได้รับมาจากการบริจาคจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และผู้บริจาคท่านอื่นๆ

ผ้าชนิดอื่นๆ เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ และผ้าปัก

๕. เครื่องไม้

ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ยังจัดเก็บอุปกรณ์ทอผ้า เช่น ฟืมไม้ ที่ปั่นด้าย แปรงปัดเส้นด้าย และส่วนประกอบของกี่ เก้าอี้ไม้ และกล่องไม้ไว้ภายในห้องคลังด้วย

อุปกรณ์สำหรับการทอผ้า

๖. เครื่องประดับ

เครื่องประดับตกแต่งร่างกายที่จัดเก็บภายในพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วย เครื่องเงิน เครื่องทอง หวีไม้ ปิ่นโลหะ และเครื่องใช้ที่ทำจากกระดูกสัตว์ เป็นต้น

เครื่องทอง เครื่องเงิน และหวีทำจากกระดูกสัตว์

๗. อื่นๆ

เป็นวัตถุที่ไม่สามารถจัดประเภทรวมกับวัตถุอื่นๆ ได้เนื่องจากใช้วัสดุที่แตกต่างไปจากที่ได้กล่าวมาข้างต้น เช่น ภาพวาดฝีพระหัตถ์ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ย่านลิเภา หมอน เป็นต้น

ภาพวาดฝีพระหัตถ์ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อคราวเสด็จฯ เยือนพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ

หมอนขิดและตะกร้าสานจากย่านลิเภา

อย่างไรก็ตามการจัดแบ่งประเภทวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์ ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยและเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปของแต่ละพิพิธภัณฑ์ จึงควรเลือกปรับใช้การแบ่งประเภทของวัตถุโดยพิจารณาจากที่มาและลักษณะเฉพาะของวัตถุที่เราครอบครองเป็นหลัก เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บ ดูแลรักษา และสะดวกต่อการสืบค้นข้อมูล