×

บล๊อก  

การจัดทำหุ่นจัดแสดงฉลองพระองค์ผ้าไหมมัดหมี่ (จำลอง) ณ พิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม-ป้าไท้ จ. สกลนคร โดย นางสาวอริสรา อำนวยชัยเกิดลาภ, เจ้าหน้าที่อนุรักษ์

การจัดทำหุ่นจัดแสดงฉลองพระองค์ผ้าไหมมัดหมี่ (จำลอง) ณ พิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม-ป้าไท้ จ. สกลนคร

ในปัจจุบันการจัดเก็บวัตถุตามหลักการอนุรักษ์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับพิพิธภัณฑสถานต่างๆ เนื่องจากวัตถุนั้นมีคุณค่าและสำคัญทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒธรรม ซึ่งรวบรวมความรู้ไว้อย่างมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งการจัดเก็บวัตถุตามหลักการอนุรักษ์นั้นจะสามารถลดแนวโน้มการเสื่อมโทรมของวัตถุได้ ทำให้วัตถุเหล่านั้นสามารถมีอายุที่ยืนยาว และยังคงอยู่เป็นแหล่งการเรียนรู้สำหรับบุคคลที่มีความสนใจในด้านนั้นๆ

พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งจัดเก็บและรวบรวมรักษาวัตถุที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้และค้นคว้าวิจัยที่เป็นประโยชน์ วัตถุพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่มีอายุหลายร้อยปี วัตถุส่วนใหญ่จึงอยู่ในสภาพที่ชำรุด และเริ่มเสื่อมสภาพ เนื่องจากวัตถุบางชิ้นนั้นถูกใช้งานมาเป็นเวลานาน หรืออาจขาดความรู้ ความเข้าใจในการดูแลรักษา หากการจัดเก็บวัตถุนั้นเป็นไปอย่างไม่ถูกต้องและเหมาะสม ก็มีแนวโน้มที่วัตถุพิพิธภัณฑ์จะชำรุด และเสื่อมสภาพเพิ่มขึ้น หากการจัดเก็บวัตถุพิพิธภัณฑ์เป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสมจะช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของวัตถุได้

การจัดเก็บวัตถุนั้นมิใช่การจัดเก็บในพื้นที่ที่เหมาะสมเพียงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการดูแลรักษา ตรวจสภาพของวัตถุก่อนการจัดเก็บ และการจัดการสภาพแวดล้อมในการจัดเก็บ การจัดเก็บวัตถุแต่ละประเภทจะแตกต่างกันตามความเหมาะสมและตามหลักการของการอนุรักษ์วัตถุ นอกจากนั้นวัสดุที่ใช้ในการจัดเก็บวัตถุหรือวัสดุที่เสริมความแข็งแรงให้แก่วัตถุนั้นต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือการเสื่อมสภาพต่อตัววัตถุพิพิธภัณฑ์ การจัดการอย่างเป็นระบบนี้จะทำให้การจัดเก็บวัตถุเข้าคลังพิพิธภัณฑ์เกิดประสิทธิภาพสูงสุด


ภาพฉลองพระองค์ผ้าไหมมัดหมี่ (จำลอง)

ขั้นตอนการดำเนินงาน

1. นำวัตถุจัดแสดง ฉลองพระองค์ (จำลอง) มาสวมกับหุ่นเพื่อวัดขนาด ใช้ดินสอลากเส้นส่วนที่เกินมาจากฉลองพระองค์บนหุ่น แล้วใช้มีดคัตเตอร์ตัดส่วนเกินออก จนได้หุ่นที่สวมฉลองพระองค์ได้พอดีไม่มีขอบหุ่นเกินออกมา


2. ตัดเย็บผ้าหุ้มหุ่น 3 ชิ้น ได้แก่ ผ้าฝ้ายดิบสำหรับหุ้มด้านนอก 1 ชิ้น ผ้าใยสังเคราะห์สำหรับเป็นผ้าซับใน 1 ชิ้น และผ้าใยสังเคราะห์สำหรับหุ้มด้านนอก 1 ชิ้น เริ่มต้นด้วยการทำแบบร่าง (แพทเทิร์น) ลงบนผ้าฝ้ายดิบและผ้าซับใน เย็บต่อแพทเทิร์นที่ตัดเสร็จแล้ว และเว้นแนวเย็บกึ่งกลางด้านหลังเพื่อให้หุ้มหุ่นได้ง่ายขึ้น เสร็จแล้วทดสอบลองสวมบนหุ่น

3. กำหนดจุดเจาะรูสำหรับเย็บผ้าหุ้มหุ่นด้วยดินสอ แต่ละจุดห่างกันประมาณ 1 นิ้ว เจาะรูด้วยเข็มเย็บกระสอบ (หากใช้หุ่นชนิดอื่นที่มีความหนาและแข็งกว่า ต้องใช้สว่านเจาะรู)

4. ทำฐานหุ่นด้วยโฟมโพลีเอทิลีน (PE) ตัดแต่งโฟมให้มีขนาดพอดีกับด้านในหุ่น เจาะรูที่กึ่งกลางสำหรับใช้เสียบกับเสาจัดแสดง จากนั้นกรีดโฟมตามเส้นรอบวงที่วัดจากขอบเข้ามาด้านในประมาณ 1 นิ้ว สำหรับเหน็บชายผ้าหุ้มหุ่น

5. ติดเทปกาวไทเว็กป้องกันกรดและไอระเหย (Tyvek tape) รอบ ๆ ขอบด้านบนและด้านล่างของหุ่นจัดแสดง เพื่อป้องกันกรดและความคมที่อาจทำให้วัตถุเกิดความเสียหาย

6. เย็บผ้าหุ้มหุ่น โดยเริ่มจากการเย็บผ้าซับใน นำผ้าซับในใส่เข้าไปด้านในหุ่น หันด้านถูกออก ด้านที่มีตะเข็บหันเข้าตัวหุ่น จากนั้นใช้เข็มหมุดตรึงผ้า เสียบทะลุผ่านรูเย็บออกไปด้านนอกหุ่น หมุดปลายเข็มด้วยเศษโฟมให้แน่น และเว้นระยะขอบบนและขอบล่างยังไม่ต้องตรึงผ้าไว้ จากนั้นใช้ด้ายสีเดียวกับผ้าซับในเย็บเป็นจุดตามรูเย็บ เสร็จแล้วดึงเข็มออกแล้วเย็บเดินเส้นเก็บแนวผ้ากึ่งกลางหลังที่เว้นไว้ ปล่อยปลายผ้าด้านบนและล่างยังไม่ต้องตัดออก

7. เย็บผ้าฝ้ายหุ้มหุ่นจัดแสดงด้านนอก นำผ้ามาหุ้มหุ่น จัดดึงให้เรียบตึงแล้วเย็บเก็บแนวผ้ากึ่งกลางหลัง เก็บปลายผ้าที่ขอบบนและล่างด้วยการพับทบออกมาด้านนอก เย็บเดินเส้นรอบขอบตามแนวรูเย็บ เสร็จแล้วเย็บสอยชายผ้าให้เรียบร้อย

8. เสริมขนาดหุ่นให้พอดีกับฉลองพระองค์เพื่อความสวยงามและเป็นการรองรับวัตถุ ป้องกันการชำรุดเสียหาย โดยใช้วัสดุที่มีความนุ่มเสริมความหนาบนหุ่น สำหรับหุ่นนี้ใช้ใยสังเคราะห์ชนิดอัดแผ่น (Polyester felt) ตัดเป็นชิ้นตามแพทเทิร์นแล้วหมุดบนหุ่น จากนั้นเย็บติดกับผ้าฝ้ายดิบ(ไม่เย็บทะลุไปด้านในหุ่น) เก็บปลายขอบบนและล่างให้เรียบร้อย

9. พับปลายผ้าซับในด้านบนออกมาด้านนอกหุ่น ดึงให้ตึงจัดให้เรียบร้อยและหมุดเข็มตรึงไว้ จากนั้นเย็บติดกับส่วนที่หุ้มใยสังเคราะห์ สามารถใช้เตารีดหัวเล็กรีดให้ผ้าเรียบก่อนเย็บได้ ขั้นตอนนี้จำเป็นต้องเก็บงานที่ขอบหุ่นให้เรียบร้อยเนื่องจากเป็นส่วนที่อาจจะมองเห็นในการจัดแสดง

10. หุ้มหุ่นด้านนอกอีกชั้นด้วยผ้าใยสังเคราะห์เพื่อความเรียบร้อยและสวยงาม โดยใช้วิธีเดียวกับการเย็บหุ้มผ้าฝ้ายดิบ เก็บงานขอบบนให้เรียบร้อย แล้วปล่อยปลายผ้าด้านล่างไว้

11. เก็บปลายผ้าด้านล่างด้วยการพับทบเข้าไปด้านในฐานหุ่นแล้วเหน็บผ้ากับรอยกรีดบนโฟม โดยตัดปลายผ้าให้มีความยาวพอดีกับการเหน็บเข้าไปรอยกรีด ใช้เทปกาวสองหน้าไร้กรดติดที่ขอบหุ่นด้านในแล้วกดผ้าให้ติดกับหุ่นเพื่อช่วยยึดปลายผ้าให้แน่นขึ้น เสร็จแล้วใช้อุปกรณ์ช่วยสอดปลายผ้าเหน็บเข้าไปในรอยกรีด

12. เก็บความเรียบร้อยที่ฐานหุ่น ด้วยแผ่นฉนวนป้องกันกรดและไอระเหย (Marvel seal 360) ตัดเป็นรูปทรงสำหรับปิดพื้นที่โฟมโดยให้ขอบสามารถปิดรอยเหน็บผ้าไปเล็กน้อย เจาะรูให้ตรงกับรูฐานหุ่น จากนั้นใช้เทปกาวสองหน้าไร้กรดติดแผ่นฉนวนลงบนฐานหุ่นให้แน่น

13. เสริมไหล่ของหุ่นสำหรับรองรับไหล่ของฉลองพระองค์เพื่อช่วยให้การจัดแสดงฉลองพระองค์งดงามมากขึ้น โดยใช้ผ้าตาข่ายไนลอนชนิดแข็ง เย็บเป็นจีบระบายติดกับหุ่นจัดแสดงด้วยวิธีการเย็บ (ก่อนเย็บติดควรต้องลองสวมฉลองพระองค์เพื่อกำหนดจุดเย็บติดกับหุ่น)

14. ทดสอบนำฉลองพระองค์ขึ้นหุ่นจัดแสดงเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยของภาพลักษณ์ทั้งหมด ก่อนนำไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม – ป้าไท้

ข้อแนะนำและข้อพึงระวัง

1. ในขั้นตอนการหมุดตรึงผ้าหุ้มหุ่นและผ้าซับใน การเปิดไฟส่องเข้าด้านในหุ่นจัดแสดงจะช่วยให้มองเห็นรูสำหรับหมุดเข็มได้ง่ายขึ้น และการใช้เศษโฟมปักกับปลายเข็มก็จะช่วยให้เข็มหมุดแน่นขึ้น ไม่เคลื่อนหรือหลุดออกจากรูเย็บ และป้องกันอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน

2. การทำฐานหุ่นด้วยโฟมโพลีเอทิลีน (PE) หากเหลาโฟมได้ขนาดที่ไม่พอดี มีช่องว่างเหลือตามขอบ สามารถใช้เศษโฟมเติมเข้าไปในช่องว่างแล้วยึดติดกันด้วยกาวร้อน

3. หากผ้าไม่เรียบขณะเก็บปลายผ้า สามารถใช้เตารีดหัวเล็กรีดให้ผ้าเรียบก่อนทำการเย็บได้ เพื่อช่วยให้ปฏิบัติงานได้ง่ายขึ้นและมีความสวยงามเรียบร้อย

4. การเลือกใช้อุปกรณ์เย็บผ้า ควรเลือกใช้ขนาดเข็มเย็บผ้า ชนิด ขนาด และสีของด้ายให้เหมาะสมกับขั้นตอนการปฏิบัติงาน