×

บล๊อก  

การจัดการวัตถุ : แนวคิดและตัวอย่างในการจัดเก็บวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ฝ่ายอนุรักษ์และทะเบียน

สถานที่

พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

แชร์

การจัดการวัตถุ : แนวคิดและตัวอย่างในการจัดเก็บวัตถุในพิพิธภัณฑ์

งานจัดเก็บวัตถุถือเป็นอีกหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของงานพิพิธภัณฑ์ เพราะวัตถุถือเป็นหัวใจของการจัดนิทรรศการ หากไม่มีวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์แล้วก็จะไม่สามารถจัดแสดงงานนิทรรศการได้ ในการนี้จึงจำเป็นต้องมีการดูแลรักษาวัตถุเพื่อให้คงสภาพได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ดังนั้นจึงต้องมีการเลือกพื้นที่ สภาพแวดล้อม และระบบอำนวยความสะดวกสำหรับการจัดเก็บวัตถุ รวมถึงมีการจัดทำแท่นรองรับวัตถุอย่างเหมาะสมด้วย ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงหลักการและตัวอย่างในการจัดเก็บวัตถุของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ค่ะ

หลักการในการจัดเก็บวัตถุภายในห้องคลังของพิพิธภัณฑ์มี ๓ ข้อด้วยกัน คือ

๑. ทำแท่นรองรับวัตถุให้เหมาะสมกับลักษณะทางกายภาพและสภาพของวัตถุ กล่าวคือวัตถุทุกชิ้นภายในพิพิธภัณฑ์จะต้องผ่านการตรวจสภาพวัตถุโดยนักอนุรักษ์ ซึ่งจะเป็นผู้ประเมินว่าวัตถุชิ้นนั้นมีสภาพสมบูรณ์ดีมาก ดี พอใช้ หรือชำรุด และให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ทะเบียนถึงวิธีที่เหมาะสมในการจัดเก็บว่าควรจัดเก็บแบบใด และต้องระมัดระวังบริเวณใดเป็นพิเศษ
๒. เลือกใช้วัสดุที่ปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อวัตถุ โดยเน้นวัสดุที่ไร้กรด ไม่มีสารระเหย เช่น กระดาษลูกฟูกไร้กรด (Acid-free corrugated board) กระดาษบางไร้กรด (Acid-free tissue paper) แกนกระดาษไร้กรด (Acid-free tube) โฟมโพลีเอธีลีน (Polyethylene Foam) เป็นต้น
๓. ค้นหาได้ง่าย ประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาวัตถุล้นห้องคลังในอนาคต และการจัดเก็บนั้นต้องสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายวัตถุจากพื้นที่หนึ่งไปยังพื้นที่หนึ่ง โดยวัตถุนั้นต้องไม่เกิดความเสียหายระหว่างการเคลื่อนย้ายด้วย

วัตถุของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ส่วนใหญ่เป็นฉลองพระองค์และเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ และผ้าชาติพันธุ์ของกลุ่มพื้นเมืองต่างๆ ถือเป็นวัตถุที่สามารถเสื่อมสภาพได้ง่ายหากจัดเก็บในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมและด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามหลักการจัดเก็บวัตถุที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล จึงขอเสนอวิธีการดูแลวัตถุประเภทผ้าดังต่อไปนี้

๑. ฉลองพระองค์ ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า วัตถุทั้งหมดต้องผ่านการตรวจสภาพวัตถุโดยนักอนุรักษ์ เราจึงแบ่งการจัดเก็บตามสภาพของวัตถุที่ถูกประเมิน กล่าวคือฉลองพระองค์ที่ผ่านการประเมินแล้วว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์และมีน้ำหนักเบา สามารถจัดเก็บแบบแขวนได้ โดยแขวนบนไม้แขวนที่แข็งแรงและคลุมด้วยนวมไม้แขวนอีกที หลังจากนั้นจึงคลุมด้วยถุงคลุมฉลองพระองค์ ประโยชน์ของการใช้นวมไม้แขวน คือนอกจากจะป้องกันการเกิดกรดจากไม้แขวนที่สามารถทำอันตรายต่อวัตถุได้แล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้ฉลองพระองค์เสียรูปด้วย ซึ่งการทำนวมไม้แขวนนั้นก็มีหลากหลายวิธีทำด้วยกัน ทั้งเย็บเป็นนวมที่สามารถถอดเข้าออกได้ หรือการนำใยโพลีเอสเตอร์มาหุ้มไม้แขวนและพันผ้าฝ้ายคลุมทับลงอีกทีซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและง่ายที่สุด


การจัดเก็บฉลองพระองค์แบบแขวน


นวมไม้แขวนและการทำนวมไม้แขวนอย่างง่าย

สำหรับฉลองพระองค์ที่มีสภาพชำรุด มีน้ำหนักมาก หรือมีการปักประดับลูกปัดจำนวนมาก ควรจัดเก็บแบบวางนอน โดยนำวัตถุวางนอนราบลงบนกล่องกระดาษไร้กรด (Acid-free corrugate board) และนำกระดาษบางไร้กรดใส่ลงไปในฉลองพระองค์เพื่อคงสภาพวัตถุไว้และป้องกันการเกิดรอยยับบนวัตถุ


การจัดเก็บวัตถุแบบวางนอน

๒. เครื่องประกอบฉลองพระองค์อื่นๆ เช่น พระมาลา ฉลองพระบาท ถุงพระหัตถ์ สามารถจัดเก็บได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

พระมาลา ทำแท่นรองรับวัตถุด้วยการเกลาเอธาโฟม (Ethafoam) ซึ่งเป็นโฟมชนิดพิเศษที่ไม่ทำอันตรายต่อวัตถุให้เป็นทรงกลมคล้ายศีรษะ หุ้มด้วยใยโพลีเอสเตอร์ และคลุมทับด้วยผ้าฝ้ายอีกที เพื่อคงสภาพพระมาลาไว้ไม่ให้เสียรูปทรง นอกจากนี้ยังทำฐานรองสี่เหลี่ยมประกอบเพื่อรองรับแท่นพระมาลาและสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายด้วย


การจัดเก็บพระมาลา


แท่นรองรับพระมาลา

ฉลองพระบาท เช่นเดียวกับพระมาลา คือจัดทำแท่นรองรับวัตถุด้วยการเกลาโฟมให้เป็นรูปรอยเท้าสำหรับการวางฉลองพระบาท ผูกด้วยเทปก้างปลาเพื่อป้องกันฉลองพระบาทหลุดออกจากแท่นวาง จัดแท่นวางลงในกล่องสำหรับจัดเก็บซึ่งทำเป็นกล่องอย่างง่ายเพื่อประหยัดทรัพยากรและสะดวกต่อการมองเห็นวัตถุ เนื่องจากตู้เก็บวัตถุของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เป็นแบบปิดจึงไม่ต้องกังวลเรื่องฝุ่นละอองหรือแสงจะทำอันตรายต่อวัตถุได้




แท่นรองรับฉลองพระบาท

ถุงพระหัตถ์ ทำกล่องใส่วัตถุอย่างง่าย ปูรองด้วยวัสดุที่มีพื้นผิวนุ่มเพื่อรองรับถุงพระหัตถ์ ทำที่คั่นแล้วผูกด้วยเทปก้างปลาเพื่อป้องกันถุงพระหัตถ์สลับข้างกัน นอกจากนี้ยังทำซองปลายปิดบรรจุใยโพลีเอสเตอร์ใส่ไว้ภายในถุงพระหัตถ์เพื่อป้องกันไม่ให้หนังทั้งสองข้างติดกันด้วย


การจัดเก็บถุงพระหัตถ์

๓. ผ้าผืน นอกจากฉลองพระองค์และเครื่องประกอบการแต่งกายแล้ว พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ยังมีวัตถุประเภทผ้าชาติพันธุ์อีกเป็นจำนวนมาก ผ้าผืนที่มีขนาดยาวมาก ควรจัดเก็บด้วยวิธีการม้วนลงบนแกนกระดาษไร้กรด (Acid-free tube) หุ้มด้วยกระดาษบางไร้กรด (Acid-free tissue paper) แล้วผูกทับด้วยริบบิ้น สีของริบบิ้นที่ผูกขึ้นอยู่กับสภาพของวัตถุชิ้นนั้น เช่น ริบบิ้นสีขาวหมายถึงวัตถุที่มีสภาพสมบูรณ์ สีชมพูอ่อนหมายถึงสภาพดี สีชมพูเข้มหมายถึงสภาพพอใช้ และสีแดงหมายถึงสภาพชำรุด การผูกริบบิ้นสีต่างๆ นี้จะเป็นตัวสังเกตให้เพิ่มความระมัดระวังในการปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น


การจัดเก็บผ้าผืนที่มีขนาดยาว และแถบริบบิ้นสีต่างๆ เพื่อบอกสภาพวัตถุ

ส่วนผ้าผืนที่มีขนาดสั้นสามารถจัดเก็บด้วยวิธีการพับได้ แต่ต้องทำหมอนสำหรับรองรับรอยพับต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดรอยยับขึ้นในอนาคต หมอนรองรับวัตถุนี้สามารถทำจากผ้าฝ้ายและใยโพลีเอสเตอร์ก็ได้ หรือสามารถใช้กระดาษบางไร้กรดมาม้วนเพื่อรองรับวัตถุก็ได้เช่นกัน


การจัดเก็บผ้าผืนที่มีขนาดสั้น และการใช้กระดาษบางไร้กรดม้วนสำหรับรองรับวัตถุ

๔. วัตถุประเภทอื่นๆ เช่น เครื่องประดับเงิน เครื่องไม้ หรือเครื่องจักสาน ใช้หลักการจัดเก็บเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวมาข้างต้น คือทำแท่นรองรับวัตถุที่ตัดจากโฟมโพลีเอธีลีนและผูกด้วยเทปก้างปลาเพื่อป้องกันวัตถุหลุดร่วงออกจากแท่นรองรับ แต่เนื่องจากเครื่องประดับเงินมีขนาดเล็กมากกว่าวัตถุประเภทอื่น ดังนั้นจึงจัดทำแท่นรองรับวัตถุเป็นถาด เพื่อรองรับวัตถุหลายชิ้นลงในกล่องเดียว เป็นการประหยัดทรัพยากรวัสดุและพื้นที่ในการจัดเก็บได้เป็นอย่างดี


การจัดเก็บเครื่องประดับเงิน


การจัดเก็บเครื่องจักสาน


การจัดเก็บเครื่องไม้

วิธีทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้เป็นเพียงแนวทางเล็กน้อยสำหรับการจัดเก็บวัตถุในห้องคลังเท่านั้น ในแต่ละพิพิธภัณฑ์อาจมีวิธีการจัดเก็บวัตถุที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับประเภทของวัตถุ สภาพแวดล้อม และงบประมาณ ซึ่งเราสามารถนำหลักการจัดเก็บตามที่ได้กล่าวมานี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วยเช่นกัน