แชร์
การจัดการวัตถุ : การแช่แข็งวัตถุเพื่อกำจัดแมลง (หมวกชาวเขาเผ่าลีซู)
การแช่แข็งวัตถุเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญในการทำความสะอาดวัตถุ ก่อนที่จะมีการนำวัตถุไปจัดแสดง หรือจัดเก็บรักษานั้น ทางพิพิธภัณฑ์ต้องมีการจัดการวัตถุ โดยวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นวัตถุประเภทผ้า ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าผ้านั้นมีสภาพที่เปราะบาง และง่ายที่จะชำรุดเสียหายไม่ว่าจะจากปัจจัยภายในที่เกิดจากการเสื่อมสภาพตามกาลเวลาของผ้าเอง หรือแม้กระทั่งจากปัจจัยภายนอกที่เกิดจากแมลงที่เป็นสิ่งเร้าทำให้ผ้าเกิดความชำรุดเสียหาย ดังนั้นการจัดการวัตถุประเภทผ้าจำเป็นที่จะต้องมีวิธีการจัดการที่เหมาะสมเพื่อให้คงสภาพวัตถุประเภทผ้าให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด
การแช่แข็งวัตถุเป็นวิธีการมาตรฐานที่พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกได้นำมาใช้ในการจัดการวัตถุประเภทผ้า เนื่องจากการแช่แข็งวัตถุคือวิธีการกำจัดแมลงที่อาจติดหรือปนเปื้อนมาในวัตถุ และตู้แช่แข็งที่จะนำมาแช่แข็งวัตถุในการกำจัดแมลงได้นั้นจะต้องเป็นตู้ที่สามารถทำอุณหภูมิติดลบได้ถึง -20 องศาเซลเซียส ทั้งยังต้องใช้เวลาในการแช่แข็งวัตถุเป็นเวลา 14 วัน เนื่องจากจะสามารถทำให้ตัดวงจรชีวิตแมลงและไข่แมลงที่ปนเปื้อนมาตายได้
ในบทความนี้จะกล่าวถึงวิธีการปฏิบัติงานด้านจัดการวัตถุประเภทผ้าด้วยวิธีการแช่แข็งวัตถุ โดยศึกษาจากหมวกชาวเขาเผ่าลีซู ซึ่งหมวกชาวเขาเผ่าลีซูนั้นมีการประดับและตกแต่งด้วยลูกปัด หรือเชือกหลากสี ทำให้การจัดการวัตถุจะต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง
วิธีการแช่แข็งหมวกชาวเขาเผ่าลีซูมี 3 ขั้นตอน ดังนี้
1. ห่อวัตถุด้วยกระดาษบางไร้กรด
ใช้กระดาษบางไร้กรดหนุนหรือรองบริเวณส่วนที่เปราะบาง อาทิ ส่วนตกแต่งของหมวก ฐานรองหมวก เพื่อเป็นตัวเสริมความแข็งแรง ทั้งยังเป็นการป้องกันความเสียหายจากการกดทับของวัตถุชิ้นอื่นขณะทำการแช่แข็งภายในตู้แช่แข็งได้อีกด้วย
2. บรรจุในถุงพลาสติกแบบหนา
หลังจากห่อหมวกชาวเขาเผ่าลีซูด้วยกระดาษบางไร้กรดเรียบร้อยแล้ว จากนั้นทำการบรรจุหมวกไปในถุงพลาสติกแบบหนา โดยวัสดุที่ใช้บรรจุจะต้องเป็นพลาสติกหนาที่สามารถทนความเย็นได้ถึง -20 องศาเซลเซียส เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ความเย็นเข้ามาทำลายสภาพวัตถุในขณะที่ทำการแช่แข็งวัตถุได้
3. นำวัตถุลงไปในตู้แช่แข็งวัตถุ
ขั้นตอนท้ายสุดคือการนำวัตถุลงไปในตู้แช่แข็ง ซึ่งตู้แช่แข็งที่นำมาแช่แข็งวัตถุจะต้องมีพื้นที่มากพอสมควรที่จะสามารถใส่วัตถุลงไปแช่แข็งได้หลากหลายชิ้น และการวางวัตถุเข้าตู้แช่แข็งต้องวางวัตถุให้เหมาะสม ไม่ให้วัตถุวางทับซ้อนกันแน่นจนเกินไป โดยต้องมีการคำนึงถึงน้ำหนักของวัตถุและสภาพของวัตถุด้วย
เมื่อครบกำหนดระยะเวลาแช่แข็งวัตถุแล้ว (14วัน) จึงดำเนินการนำวัตถุออกจากตู้แช่แข็ง โดยจะนำมาวางพักไว้เป็นเวลา 1 คืน เพื่อให้ถุงบรรจุวัตถุคลายความเย็นอย่างช้า ๆ จนมีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิห้อง แล้วจึงนำวัตถุไปจัดการในขั้นตอนอื่น ๆ ต่อไป
การกำจัดแมลงด้วยวิธีการแช่แข็งวัตถุเป็นวิธีการจัดการทำความสะอาดวัตถุที่มีความสำคัญต่อการจัดการวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากการแช่แข็งวัตถุเป็นวิธีการหนึ่ง ที่จะช่วยป้องกันความเสียหายต่อวัตถุประเภทผ้าจากการทำลายของแมลงได้ แต่วิธีการแช่แข็งวัตถุก็มีข้อจำกัดคือ วัสดุของวัตถุบางประเภทไม่สามารถนำไปแช่แข็งได้ ทำให้ในการปฏิบัติงานจำเป็นต้องศึกษาและทราบถึงประเภทวัสดุก่อนที่จะนำวัตถุไปแช่แข็ง
ทั้งหมดนี้เองทำให้ผู้เขียนอยากจะนำเรื่องราวการจัดการวัตถุด้วยวิธีการแช่แข็งเพื่อกำจัดแมลงได้มาเล่าและแบ่งปันประสบการณ์ต่างๆให้กับผู้อ่านได้ทราบถึงวิธีการปฏิบัติงานด้านงานการจัดการวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์ และตัวผู้เขียนเองก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความในข้างต้นนั้นจะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่งต่อตัวผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อย